วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทรัพยากรที่ดิน

 "ทรัพยากรที่ดิน" เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในการดำรงชีพของมนุษย์ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องใช้ที่ดินเป็นปัจจัยหลักการเพิ่มขึ้นของประชากร ประกอบกับความต้องการใช้ที่ดิน เพื่อใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาอื่นก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาเมือง เขตอุตสาหกรรม เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ การนำพื้นที่เหมาะสมทางการเกษตรมาใช้ในการขยายเมือง การนำพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเกษตรมาใช้ในการเกษตร การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเกษตรกร ชุมชนและประเทศชาติ ปัญหาของทรัพยากรดินและการใช้ที่ดินจึงแยกได้ 2 ประการคือ ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินและปัญหาการใช้ที่ดิน 
 
 สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน 
            ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน มีสาเหตุทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตัวอย่างของปัญหา เช่น การชะล้างพังทลายของดิน ดินขาดอินทรีย์ และปัญหาที่เกิดจากสภาพธรรมชาติของดินร่วมกับการกระทำของมนุษย์ เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินอินทรีย์ (พรุ) ดินทรายจัด และดินตื้น พื้นที่ดินที่มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมของประเทศไทย ได้แก่ การชะล้างพังทลายของดิน 108.87 ล้านไร่ พื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินมากที่สุดคือ ภาคเหนือ ดินขาดอินทรียวัตถุ 98.70 ล้านไร่ ปัญหาดินขาดอินทรียวัตถุประมาณร้อยละ 77 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินที่มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม 209.84 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนดินเค็ม ดินกรดและดินค่อนข้างเป็นทราย อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ถูกต้องตามศักยภาพ คิดเป็นพื้นที่ 35.60 ล้านไร่ี (ตารางที่ 1)
       
ตารางที่ 1 พื้นที่มีปัญหาทรัพยากรดินของประเทศไทยแยกรายภาค
สภาพปัญหาทรัพยากรดินพื้นที่ (ล้านไร่)
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออก
เฉียงเหนือ
ภาคกลาง
ภาคใต้
รวม
1. ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน
53.96
17.87
26.20
10.84
108.87
2. ปัญหาดินขาดอินทรียวัตถุ
10.20
75.70
10.90
1.90
98.70
3. ดินที่มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ ทางด้านเกษตรกรรม
71.39
75.30
37.40
25.75
209.84
3.1 ดินเค็ม
-
17.80
1.60
2.30
21.70
3.2 ดินเปรี้ยวจัด
-
-
3.28
0.89
4.17
3.3 ดินกรด
12.38
27.11
11.22
13.56
64.27
3.4 ดินอินทรีย์ (พรุ)
-
-
-
0.27
0.27
3.5 ดินทรายจัด
0.86
2.60
2.30
1.21
6.97
3.6 ดินค่อนข้างเป็นทราย
1.54
30.85
4.65
2.56
39.60
3.7 ดินตื้น
13.09
15.53
9.24
3.11
40.97
3.8 ดินบนพื้นที่สูง
55.90
8.50
16.30
15.40
96.10
4. การใช้ประโยชน์ที่ดิน
ไม่ถูกต้องตามศักยภาพ
6.20
21.20
3.90
4.30
35.60
           การดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรดินให้เป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาระบบข้อมูลดิน การศึกษาวิจัย ทำแปลงสาธิตในพื้นที่เกษตรและให้ความรู้ เผยแพร่แนวทางการจัดการทรัพยากรดินที่เหมาะสม และถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้การดำเนินการตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินเพื่อการเกษตร มีความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2540-2546 ในการฟื้นฟูดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินขาดอินทรีย์วัตถุ และดินชะล้างพังทลาย จำนวน 10.75 ล้านไร่ (รูปที่ 1)
   การใช้ที่ดิน
        การใช้ที่ดินนั้นไม่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของประเทศไทยโดยการแปลภาพถ่ายทางอากาศ และข้อมูลดาวเทียม และการตรวจสอบในสนาม ในปี พ.ศ. 2523 2529 2541 และ 2544 พบว่าในขณะที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่าตัวจาก พ.ศ. 2523 อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2529-พ.ศ. 2541 พื้นที่นาได้ลดลงประมาณ 3.5 ล้านไร่ พื้นที่นาที่ลดลงนั้นถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย สนามกอล์ฟ รีสอร์ท หรือที่พักผ่อนหย่อนใจจำนวนมาก แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2541-2544 พื้นที่นาได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านไร่ เนื่องจากหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้น
       สำหรับการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ภาครัฐได้มีการปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แต่จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังยากที่จะกล่าวว่าประสบความสำเร็จ หนึ่งในปัญหาหลายๆ ประการที่เกิดขึ้นก็คือ บุคคลที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินมิใช่เกษตรกรที่ยากจนขาดแคลนที่ดินทำกิน แต่กลับกลายเป็นบุคคลอื่น เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ มากไปกว่านั้น เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินส่วนใหญ่นำที่ดินที่ได้รับไปจำนองหรือขายทิ้ง ทำให้สูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยการปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงนโยบายที่นำเอาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาให้เกษตรกรทำประโยชน์ แต่มิได้มีมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน เมื่อการปฏิรูปที่ดินไม่นำมาซึ่งการกระจายการถือครองที่ดิน ภาพที่ขัดแย้งภายในสังคมไทยก็คือว่ามีบุคคลจำนวนน้อยถือครองที่ดินปริมาณมหาศาล แต่เกษตรจำนวนมากถือครองที่ดินเพียงเล็กน้อย เมื่อปราศจากมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ความพยายามที่จะเข้าครอบครองที่ดินก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งโดยวิธีการที่ถูกและผิดกฎหมาย และเป็นแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินไป สำหรับผลการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518-2547 ได้มอบหนังสือให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ประเภทที่ดินของรัฐเป็นพื้นที่ 24.41 ล้านไร่
       สำหรับพื้นที่ถือครองทางการเกษตรของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2525-2542 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในปี พ.ศ. 2525 มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 123.59 ล้านไร่ และในปี พ.ศ. 2542 มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 131.34 ล้านไร่ พื้นที่ถือครองทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลงโดยตลอด สำหรับจำนวนครัวเรือนเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (รูปที่ 2)
 มูลค่าความเสียหาย 
         การประเมินการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินสำหรับการศึกษานี้จะพิจารณาเฉพาะปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1) ปัญหาการชะล้างพังทลายที่ทำให้สูญเสียธาตุอาหารของพืช 2) ปัญหาดินเค็ม โดยคิด มูลค่าการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่ดินเป็นรายปี และ 3) ปัญหาดินถล่ม โดยคิดจาก มูลค่าความเสียหายจากดินถล่ม
1)   การประเมินการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เกิดจากการชะล้างพังทลาย โดยใช้ปุ๋ยเพื่อทดแทนความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินที่สูญเสียไป (Replacement cost) เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ที่เกิดการสูญเสียดินประมาณ 108.87 ล้านไร่ ในการศึกษานี้จะพิจารณาเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ เนื่องจากมีอัตราการชะล้างพังทลายดินในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก หรือมีอัตราการสูญเสียดินประมาณ 2-50 ตันต่อไร่ต่อปี ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าการสูญเสียธาตุอาหาร คือ ข้อมูลอัตราการสูญเสียปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ในแต่ละภาค ตามชนิดของปุ๋ย จากการสำรวจการพัดพาปุ๋ยของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ในแต่ละภาคของ    เดชา และคณะ (2540) ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่จากสถิติการเกษตรรายปีจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และข้อมูลราคาปุ๋ยยูเรีย (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต และปุ๋ยโปแตสเซี่ยมคลอไรด์ (ข้อมูลสถิติปริมาณและมูลค่าการนำเข้า ของกรมศุลกากร) จากการคำนวณต้นทุนการสูญเสียธาตุอาหารจากการพังทลายของดินมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5,015 ล้านบาทต่อปี
2) การประเมินการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์จากดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินเค็มส่วนหนึ่งเกิดมาจากการใช้ที่ดิน การปลูกพืช การสร้างอ่างเก็บน้ำ การตัดถนน การตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน คือ ยกระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นทำให้ละลายเกลือซึ่งอยู่ตามธรรมชาติใต้ดินขึ้นมาบนผิวดินจึงทำให้เกิดปัญหาดินเค็มส่งผลให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ ในบางพื้นที่ปลูกพืชได้แต่ผลผลิตลดลง และรายได้ลดลง เป็นต้น พื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากับ 17.8 ล้านไร่ แบ่งเป็น 3 ระดับความเค็ม เนื่องจากพื้นที่ดินเค็มระดับน้อยเป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชบางชนิดได้และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินได้เผยแพร่ความรู้และวิธีการในการจัดการพื้นที่ดินเค็ม ดังนั้น ในการศึกษานี้จะคำนวณต้นทุนความเสียหายจากดินเค็มระดับมากและปานกลางซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 5.2 ล้านไร่ ข้อมูลต้นทุนความเสียหายจากดินเค็มจากการศึกษาของ Hall, N. et al. (2004) ที่ศึกษาผลกระทบจากดินเค็มต่อรายได้ทางการเกษตรในจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดนครราชสีมา ในช่วงเวลา 30 ปี คือ รายได้ลดลง 484.14 บาทต่อไร่ต่อปี (ราคา ณ ปี พ.ศ. 2547) จากการคำนวณต้นทุนการสูญเสียรายได้จากดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2,518 ล้านบาทต่อปี
3) ธรณีพิบัติภัย ได้แก่ ดินถล่ม แผ่นดินไหว หลุมยุบ และการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะแผ่นดินถล่ม ซึ่งร้อยละ 21 ของพื้นที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อดินถล่มในระดับสูงดินถล่มเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนเร่งให้เกิดมากขึ้น เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง การตั้งบ้านเรือนตามหุบเขาหรือตามทางน้ำ การปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ เป็นต้น สำหรับการประเมินมูลค่าความเสียหายจากดินถล่มเป็นมูลค่าความเสียหายที่รวบรวมโดยกรมทรัพยากรธรณี ครอบคลุมความเสียหายของทรัพย์สิน บ้านเรือน ถนน สถานที่ราชการ และทรัพย์สินอื่นๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความสูญเสียชีวิต พบว่า มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเท่ากับ 157 ล้านบาทต่อปี
รวมมูลค่าความเสียหายโดยรวมด้านทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน จากปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ปัญหาดินเค็ม และปัญหาดินถล่ม พบว่า มีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 7,477 ล้านบาทต่อปี
         ทั้งนี้ปัญหาในการคำนวณส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาข้อมูล กรณีพื้นที่ดินเค็มเป็นข้อมูลที่เผยแพร่มา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนปัจจุบันก็ยังอ้างข้อมูลดังกล่าว ถึงแม้ว่าจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านดิน พบว่า กิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้ดินเค็มแพร่กระจาย เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การสร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดทำข้อมูลดินเค็มที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทั้งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์หรือเกิดตามธรรมชาติ สำหรับกรณีการสูญเสียธาตุอาหารที่เกิดจากการพังทลายของดิน ไม่ได้พิจารณาถึงปริมาณปุ๋ยที่ใส่เข้าไปในแต่ละปี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของดินในระยะยาวที่เกิดจากวิธีการทางเขตกรรม การสูญเสียหน้าดินที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการตื้นเขินของแหล่งน้ำ และกรณีของภัยพิบัติดินถล่มเป็นเพียงมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สิน ยังไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดต่อระบบนิเวศ.
 
 ทัศนคติของประชาชน  
                         สำหรับผลสำรวจทัศนคติของประชาชน พบว่า ประชาชนร้อยละ 4.0 มีความเห็นว่าปัญหาการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น